ผลเสียจากการได้รับ วิตามิน มากเกินไป
ปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างยอมรับว่า วิตามิน และแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ แต่ถ้าร่างกายได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุในปริมาณไม่เพียงพอ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้
เพราะร่างกายเราจะสามารถผลิตวิตามิน ได้เพียงบางชนิดเท่านั้น เราจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินจากภายนอกด้วย
ด้วยเหตุผลนี้ บางคนจึงพยายามสรรหาวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มาเสริมให้กับร่างกาย โดยคาดหวังให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม หรือใช้เครื่องสำอางค์ ที่มีการเสริมวิตามินแร่ธาตุ ที่มีวางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตามท้องตลาด
ถึงแม้ว่าวิตามินและแร่ธาตุจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ก็ตาม ร่างกายของแต่ละคนนั้นก็มีความต้องการวิตามินในปริมาณเล็กน้อยตามความจำเป็นเท่านั้น เพราะถ้าหากร่างกายคุณได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งเสริมให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆได้
แต่ถ้าหากคุณได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นนั้น ก็จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะตับไตจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อขับวิตามินและแร่ธาตุส่วนเกินออกจากร่างกาย อีกทั้งยังมีวิตามินหรือแร่ธาตุบางตัวที่จะสะสมในร่างกาย และอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้
ซึ่งโดยปกติคนส่วนมากเลือกที่จะทานอาหารเสริมโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปริมาณที่ร่างกายต้องการจริงๆ แต่ยึดตามหลักการณ์ทั่วไป เช่น ใน 1 วันร่างกายควรได้รับวิตามินซี 1,000 mg เป็นต้น
Vitaboost จึงอยากแนะนำถึงผลเสียของการได้รับ วิตามิน มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุที่ใครๆ ก็รู้จัก เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี สังกะสี และธาตุเหล็ก
วิตามิน เอ (Vitamin A)
วิตามิน เอ หรือที่คุณรู้จักว่าเป็น “วิตามินบำรุงสายตา” โดยเราสามารถแบ่งวิตามินเอ เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- วิตามินเอ รูปแบบพร้อมออกฤทธิ์ (Preformed Vitamin A) หรือเรตินอล (Retinol) พบได้มากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ตับ ไข่ นม และอาหารเสริม
- วิตามินเอ รูปแบบสารตั้งต้น (Provitamin A Carotenoids) ซึ่งต้องผ่านการแปรรูปในร่างกายให้เป็นวิตามินเอที่ออกฤทธิ์ได้ พบในพืชผัก ชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดีคือ เบต้าแคโรทีน (beta-carotene) เช่น แครอท
ซึ่งวิตามินเอในรูปแบบเรตินอล ที่ได้รับจากสัตว์หรืออาหารเสริมจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีมาก และยังไม่รวมวิตามินเอในรูปแบบสารตั้งต้น ที่ได้จากพืชผัก เช่น แครอท มะละกอ กล้วย บร็อคโคลี่ ที่ถึงแม้จะดูดซึมได้น้อยกว่า แต่ร่างกายก็มักได้รับจากการรับประทานอาหารอยู่แล้ว
โดย วิตามินเอ มีค่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowances: RDA) ในชายและหญิงเป็น 900 และ 700 mg เรตินอล หรือประมาณ 3,000 IU และ 2700 IU ของวิตามินรูปแบบเรตินอล
ส่วนประโยชน์หลักๆ ของวิตามินเอ คือ ช่วยรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง ตกสะเก็ด ช่วยให้มองเห็นได้ในที่แสงน้อย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายของเราอีกด้วย
ในเมื่อวิตามินเอมีประโยชน์ครบครันอย่างนี้ หลายๆ คนจึงนิยมสรรหาวิตามินเอมาเสริมให้กับร่างกายโดยที่อาจไม่รุ้ว่า วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมันและสามารถสะสมในร่างกายเพื่อเก็บกักไว้ใช้งานได้
ดังนั้นการได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงมากๆ อาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย ปวดท้อง ตาพร่า ปวดกล้ามเนื้อ ชัก ความดันในสมองสูง หรือสมองบวมได้ค่ะ
นอกจากนี้การได้รับวิตามินเอในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการพิษเรื้อรัง มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผมร่วง ปวดหัว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ส่วนในหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินความจำเป็น อาจมีส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ โดยมีความเสี่ยงที่จะพิการหลังการคลอดออกหรือแท้งได้
แต่ถ้าคุณเลือกที่จะรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีสีเหลืองส้มในปริมาณมากแทนที่จะทานอาหารเสริม อาจส่งผลให้ผิวเหลือง หรือตัวเหลืองได้ เพราะผัก ผลไม้ ที่มีสีเหลืองส้มนั้นจะมีสารที่เรียกว่า แคโรทีน แต่โดยปกติแล้วร่างกายจะสามารถเปลี่ยนสารเม็ดสีเหลืองส้มนี้ ให้อยู่ในรูปแบบของเรตินอล ซึ่งจะสามารถออกฤทธิ์ได้ที่บริเวณลำไส้และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
แต่ร่างกายจะสามารถกำหนดให้เปลี่ยนไปตามปริมาณที่ต้องการใช้เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อ แคโรทีน ส่วนเกินถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปด้วย จะถูกขับออกทางผิวหนัง จึงส่งผลให้ผิวหนังกลายเป็นสีเหลือง คล้ายกับผู้ป่วยโรคดีซ่าน
วิตามิน ซี (Vitamin C หรือ Ascorbic Acid)
วิตามิน ซี ที่สาวๆ ส่วนมากน่าจะรู้จักกันดี ว่าเป็นวิตามินสำหรับคนรักสวยรักงาม เพราะวิตามินซีนั้นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างคอลลาเจนที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ป้องกันและลดเลือนรอยแผลเป็น ป้องกันเส้นเลือดเปราะ ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้อีกด้วย
ซึ่งวิตามินซีถือเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายจึงไม่สามารถเก็บสะสมไว้ใช้ในภายหลังได้ โดยค่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน (RDA) สำหรับเพศชายและหญิงคือในปริมาณ 90 และ 75 mg
ถึงแม้วิตามินซีจะพบได้ในผักผลไม้หลายชนิด เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ อาจหันมารับประทานวิตามินซีเสริมชนิดที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดในราคาที่แตกต่างกันออกไป จนบางทีคุณอาจมองข้ามความเสี่ยงหรืออันตรายจากการที่ร่างกายได้รับวิตามินซีเสริมมากเกินความจำเป็นได้ เช่น เกิดภาวะอึดอัดในท้อง ท้องเสีย หรือระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากคุณสมบัติของวิตามินซีที่มีฤทธิ์เป็นกรด
นอกจากนี้การบริโภควิตามินซีในปริมาณที่เกินความจำเป็นต่อร่างกายในระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นก้อนนิ่วในไตและโรคเกาต์ได้ เพราะร่างกายดูดซึมวิตามินซีได้ในปริมาณที่จำกัด เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ร่างกายจะกำจัดวิตามินซีส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะโดยอัตโนมัติ วิตามินซีหรือกรดเอสคอร์บิกนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดออกซาลิกหรือกรดที่มีความเป็นกรดสูงมากและละลายได้น้อยในน้ำปัสสาวะ
ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดก้อนนิ่วในไตได้ และการได้รับวิตามินซีในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็นนั้นจะเข้าไปยับยั้งความสามารถของร่างกายในการกำจัดกรดยูริก ทำให้กรดยูริกไปสะสมที่บริเวณข้อจะทำให้เกิดการอักเสบ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ได้ค่ะ
วิตามิน ดี (Vitamin D)
วิตามิน ดี เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด โดยหน้าที่ของวิตามินดีหลักๆ แล้วจะทำงานร่วมกับแคลเซียม เช่น ปรับระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และเพิ่มการใช้แคลเซียมที่กระดูก
วิตามินดีจึงมีประโยชน์ในการช่วยยับยั้งการเกิดโรคกระดูกพรุนและลดการแตกหักของกระดูก
แหล่งอาหารของวิตามินดีจะพบได้มากในปลาแซลมอน ปลาซาดีน เนย ผลิตภัณฑ์จากนม และน้ำมันตับปลา ค่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน (RDA) ของวิตามินดี คือในประมาณ 600-800 IU
ส่วนข้อควรระวังสำหรับการได้รับวิตามินดีในปริมาณสูงจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือกระวนกระวายได้
ถ้าหากคุณได้รับวิตามินดีมากกว่าวันละ 50,000 IU จะเกิดความเสี่ยงต่ออาการเป็นพิษเรื้อรัง ทำให้มีอาการท้องผูก ปวดเกร็งบริเวณท้อง กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ความดันเลือดสูง มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็งก่อนวัยอันควร มีแคลเซียมไปเกาะอยู่ตามเนื้อเยื่อ หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนว่า ไตกำลังมีปัญหา อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคตับหรือไตวายได้อีกด้วย
วิตามิน อี (Vitamin E)
วิตามิน อี หรือโทโคเฟอรอล (Tocopherol) เป็นวิตามินที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระ ที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
วิตามินอีถือเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมันและเป็นวิตามินสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญของร่างกาย สามารถช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดความเสี่ยงการโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ช่วยให้แผลหายเร็ว ลดเลือนรอยแผลเป็น ลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจก ชะลอโรคความจำเสื่อม และลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เป็นต้นค่ะ
ซึ่งจะพบมากในอาหารประเภทพืชผัก ผลไม้ เมล็ดพืช น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันเมล็ดฝ้าย ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน (RDA) ของวิตามินอี คือวันละ 15 mg หรือ 22.4 IU โดยประมาณซึ่งจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้วิตามินอียังถูกนำใช้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบใน ยา เครื่องสำอาง อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และด้วยสรรพคุณของวิตามินอีนี้ จึงดึงดูดให้หลายๆ คนหันมาทานวิตามินอีเสริม โดยลืมคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เมื่อได้รับปริมาณมากเกินความจำเป็นค่ะ
ทั้งนี้ข้อมูลอาการพิษจากการได้รับวิตามินอีในขนาดสูงมีค่อนข้างน้อย แต่ก็มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการอึดอัดในท้อง คลื่นไส้ ปวดเกร็งท้อง ปวดหัว ตาพร่า ได้
แต่อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินอีในปริมาณสูง อาจเสี่ยงเกิดจุดเลือดออก ทำให้เกิดอาการเลือดหยุดไหลช้าได้ โดยเชื่อว่าวิตามินอีในปริมาณสูงนั้นจะสามารถยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด และอาจขัดขวางการสร้างวิตามินเครูปแบบที่ออกฤทธิ์ ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการจับตัวเป็นก้อนของเลือด
สังกะสี (Zinc)
โดยปกติแล้วร่างกายจะต้องการแร่ธาตุที่จำเป็น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แร่ธาตุที่ต้องการในปริมาณมาก (Macro Minerals) หรือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการมากกว่า 100 mg ต่อวันและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย (Trace Minerals) หรือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการน้อยกว่า 100 mg ต่อวัน แต่ไม่สามารถที่จะขาดได้เลยเพราะมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ เช่น ซิงค์ ซึ่ง 90% ของซิงค์ในร่างกายเราจะอยู่ในกระดูกและกล้ามเนื้อ ในขณะที่อีก 10% จะอยู่ที่ตับและเลือด
ซิงค์ถือเป็นสารอาหารชนิดที่ไม่ได้ให้พลังงาน ซึ่งจะพบมากในแหล่งอาหารจำพวกพืชผัก ธัญพืช และอาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมระบบการทำงานในร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน เอนไซม์หรือน้ำย่อย และกรดนิวคลิอิกทั้ง DNA และ RNA ในร่างกาย
ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า ซิงค์มีความสำคัญต่อการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกายเรานั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ซิงค์ยังมีหน้าที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ โดยช่วยให้เซลล์ต่างๆ สามารถนำเอาวิตามินเอไปใช้ได้ ทำให้เซลล์ผิวจะถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆ สุขภาพดีขึ้น ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันเชื้อโรคแปลกปลอม รักษาสมดุลของปริมาณไขมันใต้ผิวหนังและควบคุมภาวะการอุดตันของไขมันอีกด้วย
โดยปริมาณที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวันของซิงค์นั้นจะไม่สามารถระบุแบบจำเพาะเจาะจงได้ เพราะปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้ซิงค์ถูกขับออกมามากกว่าคนปกติ เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ อายุมากขึ้น หรือมีภาวะโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ทำให้ต้องการซิงค์มากเป็นพิเศษ
ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่ดิฉันแนะนำ คือการตรวจเพื่อวิเคราะห์ระดับวิตามินและแร่ธาตุในเลือด เพราะคุณจะรู้ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการได้อย่างแม่นยำค่ะ คุณสามารถปรึกษาเราผ่าน LINE ได้ที่นี่หรือเริ่มต้นเช็คโปรแกรมสุขภาพได้เลยค่ะ
แต่โดยปกติแล้ว ซิงค์ที่ร่างกายได้รับแต่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่หมด จะถูกขับออกทางอุจจาระ แต่การบริโภคซิงค์เสริมเข้าไปในปริมาณที่สูงมากก็จะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เกร็งบริเวณกล้ามเนื้องท้อง ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ
ดังนั้นถ้าหากคุณได้รับซิงค์เสริมที่เกินความจำเป็นต่อร่างกายในระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะโรคโลหิตจาง เพราะธาตุซิงค์จะเข้าไปลดการดูดซึมแร่ธาตุอื่นๆ ได้ เช่น ธาตุเหล็ก และทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากระดับคอเลสเตอรอลจะเพิ่มขึ้นค่ะ
ธาตุเหล็ก (Iron)
ธาตุเหล็กถือเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดงจะอยู่ในรูปของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย
สามารถพบได้ในอาหารจำพวก ตับ เลือด เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักสีเขียว ซีเรียล ข้าวโอ๊ต ถั่วแดง ถั่วดำ และยังมีรูปแบบเป็น ยา และอาหารเสริมที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายจะมีกลไกควบคุมปริมาณธาตุเหล็ก แต่ถ้าคุณได้รับปริมาณธาตุเหล็กเสริมเกินความจำเป็นอาจทำให้เกิดโทษแทนที่จะเป็นประโยชน์ได้
เพราะธาตุเหล็กสามารถสร้างความระคายเคืองหรือกัดกร่อนเยื่อบุทางเดินอาหารได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายคุณได้รับธาตุเหล็กในปริมาณสูง อาจเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ หมดแรง และหากสูญเสียของเหลวอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะช็อคได้
นอกจากนี้ธาตุเหล็กในปริมาณสูงมากๆ จะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลให้อวัยวะสำคัญ เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด ระบบเลือด เกิดความผิดปกติและอาจถึงแก่ชีวิตในที่สุด
สรุป
ถึงแม้วิตามินและแร่ธาตุจะเป็นสารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย และมีจำหน่ายมากมายหลายรูปแบบในท้องตลาด แต่ถ้าหากคุณบริโภคอาหารเสริมเหล่านี้เข้าไปในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวค่ะ
ดังนั้นดิฉันจึงอยากแนะนำให้คุณลองตรวจวิเคราะห์ระดับวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพื่อกำหนดปริมาณวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการได้อย่างแท้จริง ลดปัญหาการทานวิตามินเสริมมากเกินไปเพื่อให้การทานวิตามินเสริมเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ